การพัฒนาครูในการสร้างฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อยกระดับคุณภาพการสอน

- ข้อมูลแหล่งการเรียนรู้ -
---------------------------------------------------------------------------
ชื่อแหล่งเรียนรู้ ::
เขื่อนแม่กวงอุดมธารา
ชื่อ-นามสกุล ผู้เก็บข้อมูล ::
นางรำพึง วรางกูร
ประเภทแหล่งเรียนรู้ ::
แหล่งเรียนรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้น
ที่ตั้ง / ที่อยู่ ::
152 หมู่ที่ 2 ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
แผนที่ ::

การเดินทาง ::
ระยะทางห่างจากโรงเรียนประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางสะดวก
พื้นที่บริการ ::
จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดลำพูน อำเภอเมืองและอำเภอบ้านธิ
เบอร์โทรศัพท์ / โทรสาร(Fax) ::
053-865680
ชื่อเว็บไซต์ ::
เนื้อที่ ::
ประมาณ 175,000 ไร่
รูปภาพประกอบ ::

ประวัติความเป็นมา ::

          ลำน้ำแม่กวงเป็นลำน้ำสาขาใหญ่สาขาหนึ่งของแม่น้ำปิง ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่บริเวณเทือกเขาในเขตพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่ ติดต่อกับอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายลำน้ำนี้ไหลผ่านท้องที่ อำเภอดอยสะเก็ด  อำเภอสันทราย  อำเภอสันกำแพง  อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และเขตอำเภอบ้านธิ  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน และไหลลงสู่แม่น้ำปิง ที่บ้านสบทา  อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

          เดิมราษฎรได้ร่วมกันสร้างฝายกั้นน้ำขึ้นในลำน้ำแม่กวง  บริเวณบ้านผาแตก  ตำบลลวงเหนือ  อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่  ต่อมาในปี พ.ศ. 2518  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้เสด็จพระราชดำเนิน  เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรในท้องที่อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่  ได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานรีบดำเนินการพัฒนาลำน้ำแม่กวง โดยการสร้างเขื่อนปิดกั้นลำน้ำแม่กวง และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างเบื้องต้นเมื่อวันที่ 27  กรกฎาคม 2519  และดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ  เมื่อปี พ.ศ. 2536  รวมระยะเวลาดำเนินการ  17  ปี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อว่า “เขื่อนแม่กวงอุดมธารา” เมื่อวันที่ 18  กุมภาพันธ์ 2538 และได้ทรงเสด็จมาเปิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540  ลำน้ำแม่กวง เป็นลำน้ำสาขาใหญ่สาขาหนึ่งของแม่น้ำปิง  มีต้นกำเนิดบริเวณเทือกเขา เขตอำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่ ติดต่อกับอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ไหลผ่านท้องที่ อำเภอดอยสะเก็ด  อำเภอสันทราย  อำเภอสันกำแพง  อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และเขตอำเภอบ้านธิ  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน และไหลลงสู่แม่น้ำปิง ที่บ้านสบทา    อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

          ลักษณะเด่นของเทือกเขาอันเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญคือ มีเทือกเขาภูลังกา ซึ่งเป็นยอดสูงสุด เป็นสันดอยทอดตัวตามแนวเหนือใต้แบ่งเขตระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดลำปาง เป็นยอดดอยต้นน้ำลำธารที่มีความหลากหลายและมีความสวยงามทางธรรมชาติ มีเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติจากบ้านแม่ตอน ตำบลเทพเสด็จ และอีกเส้นทางจากบ้านปางน้ำถุ ตำบลป่าเมี่ยง

         สำหรับขุนห้วยต้นน้ำของสายน้ำแม่กวง คือ ยอดดอยนางแก้ว บ้านปางอั้น ตำบลป่าเมี่ยง ซึ่งเป็นสันดอยแบ่งเขตระหว่างลุ่มน้ำแม่กวง กับลุ่มน้ำแม่ลาว จังหวัดเชียงราย น้ำแม่กวงทอดตัวไหลจากดอยนางแก้วทางทิศเหนือของพื้นที่ลุ่มน้ำสู่ทางทิศใต้ และไหลไปลงแม่น้ำปิงที่อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีความยาวมากกว่า 100 กิโลเมตร

          น้ำแม่กวงมีลำห้วยย่อยที่สำคัญ คือ ห้วยแม่หวาน ห้วยแม่วอง ห้วยแม่ลาย ห้วยคัง ห้วยเกี๋ยง น้ำจากลำห้วยต่างๆ เหล่านี้ไหลรวมลงน้ำแม่กวง และไหลรวมลงเก็บในอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา ซึ่งชื่ออ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพื้นที่รับน้ำฝนเหนือเขื่อน 569 ตารางกิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สามารถจุน้ำได้ประมาณ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อยังประโยชน์ในการเกษตรเป็นพื้นที่ไม่น้อยกว่า 175,000 ไร่ ในท้องที่อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอบ้านธิ และอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และเพื่อประโยชน์เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาของจังหวัดเชียงใหม่ น้ำใช้ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน

          ลุ่มน้ำแม่กวงจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเอื้อประโยชน์ต่อสังคมในส่วนรวม  ทั้งประโยชน์ใช้สอยอุปโภค บริโภคของชุมชนในพื้นที่ ชุมชนเกษตรกรรมท้ายน้ำ และชุมชนเมือง นอกจากนี้แล้วยังมีความสำคัญในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 เพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธารบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำแม่กวงซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 175,000 ไร่ 

ชื่อ-นามสกุล ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดูแล ::
ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา สำนักชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ข้อมูลบุคลากร ::

ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา  สำนักชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ความสำคัญหรือจุดเด่น ::

          1.ใช้ในการเกษตรเป็นพื้นที่ไม่น้อยกว่า 175,000 ไร่ ในท้องที่อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอบ้านธิ และอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

          2.ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาของจังหวัดเชียงใหม่เฉลี่ยไม่เกิน 35,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันซึ่งแปรผันตามปริมาณน้ำต้นทุน

รายละเอียดของแหล่งเรียนรู้::

          ในปัจจุบันความสมดุลของธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ปริมาณประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการในการใช้น้ำและพื้นที่ทำกินก็จะมีปัญหาตามมา ดังนั้นในการวางแผนและการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติเพื่อการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำจึงมีความสำคัญที่จะต้องกระทำ สิ่งที่ต้องทำคือ การจัดการให้ได้มาซึ่งคุณภาพลุ่มน้ำที่ดี คือ มีน้ำมากพอ มีน้ำไหลในลำธารในอัตราสม่ำเสมออย่างพอเหมาะในแต่ละช่วงฤดูกาล และน้ำในลำธารจะต้องเป็นน้ำที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ มีคุณภาพที่ดี

ข้อมูล อื่นๆ เพิ่มเติม

       กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

       1. สภาพปัญหาลุ่มน้ำ

       แม่น้ำปิงตอนบนเป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งในภาคเหนือ มีพื้นที่รับน้ำ 24,393 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยแม่น้ำสายหลักคือ แม่น้ำปิง  แม่น้ำแตง แม่น้ำแจ่ม แม่น้ำกวง เป็นต้น  แม่น้ำกวงเป็นแม่น้ำสาขาของ แม่น้ำปิงมีพื้นที่รับน้ำฝน 2,700 ตารางกิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาใน  อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่  และไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่บ้านสบทา  อำเภอป่าซาง  จังหวัดลำพูน  อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา สร้างขึ้นมาเพื่อกั้นน้ำแม่กวงที่ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่  มีความจุอ่างที่ระดับเก็บกักปกติ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร  มีความจุของอ่างใช้งาน 249 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำหน้าที่จัดสรรน้ำสนองความต้องการด้านการเกษตร อุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการรักษาสมดุลนิเวศทางน้ำ

        2. ปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา

        จากข้อมูลปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ในช่วงปี 2537 – 2557  พบว่าปริมาณน้ำไหลเข้าสูงสุดมีประมาณ 413  ล้านลูกบาศก์เมตร(ปีพ.ศ.2554) และปริมาณน้ำไหลเข้าต่ำสุดประมาณ 94 ล้านลูกบาศก์เมตร(ปีพ.ศ.2557)   ซึ่งจะเห็นว่ามีความแปรผันค่อนข้างมากก่อให้เกิดปัญหาต่อการจัดการน้ำของเขื่อนเพื่อสนองความต้องการใช้น้ำที่มีมากขึ้นอันเนื่องจาก

  1. การขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมโดยเฉพาะ
  2. การปลูกพืชที่มีความต้องการใช้น้ำสูง
  3. การขยายตัวของของชุมชนในลุ่มน้ำทำให้มีการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น
  4. การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมด้านท้ายน้ำ

         3. แนวคิดในการบริหารจัดการในลุ่มน้ำ  แม่แตง – แม่งัด  -  แม่กวง

         เพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบนเกิดประโยชน์สูงสุด  จึงได้กำหนดแนวทางการจัดการน้ำร่วมกันในกลุ่มน้ำแม่แตง  แม่งัด  และแม่กวง โดยมีแนวคิดหลักในการวางแผนพัฒนาโครงการ ดังนี้

  1. จะต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้สัมฤทธิ์ผลทั้งในปัจจุบันและยั่งยืนไปในอนาคต
  2. จะเป็นการใช้ประโยชน์ปริมาณน้ำในกลุ่มน้ำแม่แตง แม่งัด แม่กวง ร่วมกัน
  3. จะต้องไม่เกิดผลกระทบเชิงลบต่อปริมาณน้ำที่ใช้ในปัจจุบัน ทั้งสามลุ่มน้ำ
  4. จะทำให้เกิดเสถียรภาพด้านปริมาณน้ำในทั้งสามลุ่มน้ำ
  5. จัดสร้างความเข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในระบบลุ่มน้ำ
  6. จะใช้เทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

         4. แนวทางพัฒนาลุ่มน้ำ  แม่แตง – แม่งัด  -  แม่กวง

         จากแนวคิด  6  ประเด็นข้างต้นได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและนำมาจัดทำแนวทาง และกำหนดแผนพัฒนาลุ่มแม่น้ำกวง ดังนี้

  1. ปรับปรุงการจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำกวง
  2. บริหารจัดการร่วมกันระหว่างเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยผ่านอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด – แม่กวง
  3. ในฤดูฝนนำน้ำจากน้ำแม่แตงไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และผ่านอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด – แม่กวง มาเก็บในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
  4. ในฤดูแล้งส่งน้ำที่เก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ กลับไปยังพื้นที่ชลประทานแม่แตง โดยผ่านระบบสูบน้ำจากฝายแม่แฝก ไปยังคลองส่งน้ำแม่แตง
  5. ปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก – แม่งัด เพื่อประหยัดน้ำ และสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้ง

         5. แผนพัฒนาลุ่มน้ำแม่แตง – แม่งัด  -  แม่กวงมี ดังนี้

         จากแนวคิด  6  ประเด็นข้างต้นได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและนำมากำหนดแผนพัฒนาลุ่มแม่น้ำกวง ดังนี้

         1 ) แผนระยะสั้น  5  ปี ประกอบด้วย

แผนการปรับปรุงการจัดการน้ำด้านต่างๆ ซึ่งสามารถกำหนดแผนและดำเนินการในระยะเวลา  5  ปีซึ่งได้แก่

  • แผนการจัดการลุ่มน้ำเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำแม่กวง
  • แผนการจัดการคุณภาพน้ำ
  • แผนพัฒนาด้านการเกษตร
  • แผนปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา แม่แฝก – แม่กวง
  • แผนปรับปรุงลำน้ำแม่กวง
  • แผนปรับปรุงองค์กรลุ่มน้ำ
  • อุโมงค์แม่กวง – แม่งัด

2 ) แผนระยะสั้น  10  ปี ประกอบด้วย

  • แนวส่งน้ำแม่แตง ( ปตร.แม่ตะมาน )  อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล - อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
  • โครงการสูบน้ำแม่แฝก – แม่แตง เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานแม่แตง

    6. ประโยชน์ของการจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่แตง – แม่งัด – แม่กวง
  1. เพื่อบริหารจัดการในลุ่มน้ำแม่แตง – แม่งัด – แม่กวง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  2. เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งในโครงการชลประทานแม่แตง
  3. เพื่อสร้างเสถียรภาพของปริมาณน้ำในอ่างน้ำเขื่อแม่งัดสมบูรณ์ชลและอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
  4. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในโครงการส่งเสริมและบำรุงน้ำแม่แฝก-แม่งัด
  5. เพื่อสนองความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งโดยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้ง
  6. เพื่อสนองความต้องการใช้น้ำ ด้านอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรมในเมืองเชียงใหม่ และดอยสะเก็ดที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
  7. ช่วยลดปัญหาด้านอุทกภัยในลุ่มน้ำและในเมืองเชียงใหม่
  8. ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำและในเมืองเชียงใหม่
  9. ช่วยลดความขัดแย้งในการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ
  10. ช่วยรักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ
ไฟล์เพิ่มเติม เดิม::
 Download ไฟล์เอกสารผลงานวิชาการ   

Untitled Document
สงวนลิขสิทธิ์โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และโรงเรียนชลประทานผาแตก
เว็บไซต์นี้เหมาะสำหรับการใช้งาน Internet Explorer เวอร์ชั่น 8 ขนาดหน้าจอ 1024 x 768 pixels